There's something about money.

About

9/4/57

On 22:23 by Moneytips in    No comments

ฉากสุดท้ายเปโตรดอลล่าร์

ที่มาบทความจากthanong fanclub fanpage

วันนี้ขอเริ่มซีรีส์ยาวเรื่องฉากสุดท้ายของเปโตรดอลล่าร์ เพื่อปูพื้นให้เห็นว่าอำนาจการเมืองและการเงินโลกกำลังเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการประลองกำลังกันอย่างไรขั้วอำนาจเก่าและขั้วอำนาจใหม่ จักรวรรดิสหรัฐอเมริกาหรือมหาอำนาจตะวันตกที่ครองโลก หรือดูแลระเบียบโลกปัจจุบันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2กำลังเผชิญกับการท้าทายอะไร? และที่สำคัญที่สุดสหรัฐฯจะสามารถรักษาเงินดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลกได้อีกต่อไปได้นานแค่ใหน? และปัญหาความตรึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกที่เราเห็นทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติยูเครน ปัญหาเกาหลีเหนือvsเกาหลีใต้และญี่ปุ่น การสูญหายของMH370 ความปั่นป่วนในตะวันออกกลาง ไปจนถึงภาวะความผันผวนของตาดการเงินโลกเป็นช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนของอาการ หรือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายท้ายของเปโตรดอลล่าร์หรือไม่อย่างไร?


มีข่าวใหญ่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ประธานาธิบดีโอบาโดนเตะออกมาจากซาอุดิ อาราเบียอย่างหมดฟอร์ม แต่สหรัฐฯพยายามปิดปากเรื่องนี้อย่างมิดชิดโอบามาบินไปกรุงริยาห์ด ซาอุดิอาราเบีย เพื่อที่จะเข้าเฝ้ากษัตริย์อับดุลลาห์และพูดคุยกันถึงสัมพันธ์ระหว่าง2ประเทศ หลังจากนั้นจะมีพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่โอบามาที่แคมป์ส่วนพระองค์กลางทะเลทราย ที่อยู่นอกกรุงริยาดห์ โอบามาต้องการไปรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุฯที่เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่โอบามาปฏิเสธที่จะส่งทหารเข้าไปล้มรัฐบาลAssadในซีเรียตามความต้องการของซาอุดิฯ และอิสราเอล และนอกจากนี้ โอบามามีทีท่าต้องการสร้างสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับอิหร่าน คู่ปรับของซาอุฯ แผนการการถอนทหารของสหรัฐฯออกจากอิรัคและอัฟกานิสถานในระยะข้างหน้ายิ่งจะสร้างความไร้เสถียรภาพให้กับซาอุฯและอิสราเอลที่นับวันยิ่งจะถูกโดดเดี่ยว และถูกท้าทายจากอิหร่านมากยิ่งขึ้น เพราะว่ารัสเซียและจีนรวมทั้งอินเดียแอบหนุนอิหร่านอย่างเงียบๆอยู่ อเมริกาครอบงำตะวันออกกลางมานานแล้วนับตั้งแต่หลังปี1972 คราวนี้มหาอำนาจอีกขั้วต้องการเข้าไปมีอิทธิพลบ้าง

ปรากฎว่าหลังจากที่โอบามาเข้าเฝ้ากษัตริย์อับดุลล่าห์ และมีการสนทนากัน2ชั่วโมง มีเรื่องที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นคือทางซาอุดิฯงดการเลี้ยงอาหารค่ำให้โอบามาอย่างกระทันหัน ทำให้มีการคาดคะเนอย่างแพร่หลายว่าโอบามาโดนซาอุฯเตะออกนอกประเทศ เพราะว่าน่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับนโยบายของสหรัฐฯในตะวันออกกลาง และผลประโยชน์ของสหรัฐฯและซาอุฯเริ่มที่จะหันเหออกจากกัน ทางรัฐบาลสหรัฐฯพยายามปฏิเสธข่าวว่า ไม่ได้มีการเลี้ยงอาหารค่ำให้โอบามาอยู่ในหมายกำหนดการการเยือนซาอุฯ แต่เรื่องนี้เหมือนกับเรื่องMH370ปิดกันได้ไม่มิด

โอบามาไปเยือนซาอุฯหลังจากไปเยือนยุโรปเป็นเวลา4วัน เพื่อตรวจแถวผู้นำพันธมิตรทั่วโลกที่ไปร่วมประชุมปัญหานิวเคลียร์ที่กรุงเฮค ของเนเธอร์แลนด์ว่ายังเป็นพวกเดียวกันดีหรือเปล่า เพราะว่าวิกฤติยูเครนทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจนระหว่างขั้วมหาอำนาจสองขั้ว คือสหรัฐฯ vs รัสเซียและจีน เป็นที่ชัดเจนว่าอำนาจการต่อรองของสหรัฐฯกับขั้วรัสเซีย+จีนเริ่มที่จะลดลง เห็นได้จากการที่สหรัฐฯไม่สามารถจะแซงชั่นรัสเซียได้ถนัดมือ จากการที่รัสเซียได้ไปเอาไครเมียมาเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนรัสเซีย และทางรัสเซียเริ่มมีการระดมทหารเตรียมพร้อมรบเต็มที่ แต่ทางสหรัฐฯและนาโต้ดูแล้วไม่พร้อมที่จะเผชิญหน้าทางทหารกับรัสเซียในยามนี้

การไปเยือนซาอุดิฯของโอบามา ก็เพื่อที่จะต่อยอดกับกษัตริย์อับดุลลาในเรื่องที่ไม่ลงรอยกันในตะวันออกกลาง และผลการพูดคุยที่ออกมาไม่สัมฤทธิ์ผลทำให้มีการตั้งคำถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุฯจะไปในทิศทางใหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุฯจะยังคงขายน้ำมันแลกดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเสาหลักของเปโตรดอลล่าร์หรือไม่ อำนาจทางการเงินของสหรัฐฯ หรือความเป็นเงินสกุลหลักของโลกของสหรัฐฯอยู่ที่เปโตรดอลล่าร์ หรือการที่ซาอุดิฯ และประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางขายน้ำมันที่สูบขึ้นมาเพื่อแลกกับดอลล่าร์สหรัฐฯ และเอาเงินดอลล่าร์นั้นรีไซเกิ้ลกลับไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอีกทีเพื่อเก็บเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

สิ่งที่ซาอุดิฯต้องการมากที่สุดในขณะนี้คือให้สหรัฐฯล้มรัฐบาลAssadในซีเรียที่เป็นปฏิปักษ์กับราชวงศ์ซาอุดิฯ และให้ช่วยถล่มอิหร่าน เพราะว่าทั้งซาอุดิฯและอิหร่านขัดแข้งกันทั่งเรื่องนิกายทางศาสนาและผลประโยชน์การเมืองและความมั่นคง ซาอุดิฯกลัวอิหร่านมากที่สุดเวลานี้ ในขณะที่อิสราเอลก็เตรียมหาหนทางที่จะส่งกองทัพอากาศไปถล่มอิหร่าน เพื่อบังคับให้สหรัฐฯส่งกองกำลังทหารเข้าไปช่วยอินราเอลโดยปริยาย

พูดกันได้เลยว่าซาอุดิฯและอิหร่านกำลังชิงความเป็นใหญ่ในตะวันออกกลาง โดยมีมหาอำนาจโลก2ขั้วกำลังถือหางอยู่ ถ้าสหรัฐฯทำให้ซาอุดิฯเคือง หรือมีทีท่าว่าไม่สามารถจะรักษาความมั่นคง หรือผลประโยชน์ของซาอุดิฯได้ในตะวันออกกลาง ซาอุดิฯจำเป็นต้องทบทวนนโยบายเปโตรดอลล่าร์ อันเป็นสิ่งที่สหรัฐฯเกรงกลัวที่สุด เพราะว่าถ้าหากเปโตรดอลล่าร์ต้องล่มสลาย เงินดอลล่าร์จะกลายเป็นกระดาษที่ไร้ค่า เพราะว่าไม่มีอะไรมาหนุน หรือจูงใจให้คนถือดอลล่าร์อีกต่อไป

ความไม่ลงรอยกันในนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงในเรื่องซีเรีย อิหร่าน อิยิปต์ อิรัค ฯลฯ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและซาอุดิฯร้าวฉานและเสื่อมลงไปอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ซาอุดิฯมีความต้องการที่จะออกจากเงาของอิทธิพลสหรัฐฯ แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วจะไม่ง่ายนัก

ช่วงปลายปีที่แล้วประธานาธิบดีโอบามาปฏิเสธที่จะส่งทหารเข้าไปรบในซีเรีย เพื่อล้มรัฐบาลAssad หลังมีข่าวว่ามีการใช้อาวุธเคมีเพื่อฆ่าประชาชน ทำให้ซาอุดิฯโกรธเคืองสหรัฐฯอย่างมาก นอกจากนี้การที่สหรัฐฯไม่เอาจริงกับอิหร่านซ้ำกลับพยายามรื้อสัมพันธ์กับอิหร่านให้ดีขึ้น ทำให้ซาอุดิฯมีความรู้สึกไม่มั่นคง เนื่องจากอิหร่านเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของซาอุดิฯ ดังนั้นทางริดยาดห์ต้องการทบทวนความสัมพันธ์กับสหรัฐฯในทุกระดับ

ตั้งแต่ปี1972เป็นต้นมา เปโตรดอลล่าร์เป็นเสาหลักของความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดิฯและสหรัฐฯ โดยที่ซาอุดิฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกตอนนั้นตกลงที่จะขายน้ำมันเป็นเงินสกุลดอลล่าร์ แลกเปลี่ยนกับการที่ได้รับความร่วมมือทางทหารและความมั่นคงจากสหรัฐฯ ทำให้ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆในกลุ่มโอเปคเข้าร่วมด้วยในการสร้างเปโตรดอลล่าร์

ด้วยแสนยานุภาพทางทหารที่เกรียงไกร สหรัฐฯสามารถใช้บ่อน้ำมันของตะวันออกกลางทั้งหมดที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของเพื่อมาหนุนค่าเงินดอลล่าร์

ในเดือนสิงหาคมปี1971 เงินดอลล่าร์แทบจะไร้ค่าเมื่อประธานาธิบดีนิกสันยกเลิกการผูกดอลล่าร์กับทองคำ คือเบี้ยวไม่ให้คนถือดอลล่าร์ไปแลกทองในระบบมาตรฐานทองคำกับUS Federal Reserve ทำให้ดอลล่าร์กลายเป็นเงินกระดาษที่พิมพ์ออกมาเปล่าๆแบบIOU แต่เปโตรดอลล่าร์ทำให้ทุกประเทศต้องสำรองดอลล่าร์ในการซื้อน้ำมัน ทำให้มีดีมานด์สำหรับดอลล่าร์ และทำให้ดอลล่าร์รักษาความเป็นเงินสกุลหลักของโลกเอาไว้ได้

เมื่อปลายปีที่แล้ว เจ้าชาย Bandar bin Sultan หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของซาอุดิฯบอกว่าพวกนักการทูตว่า นอกจากจะไม่ส่งกำลังเข้าไปล้มรัฐบาลAssadในซีเรียแล้ว สหรัฐฯยังไม่นุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ในปัญหาปาเลสไตน์ รวมทั้งไม่สนับสนุนซาอุดิฯที่เข้าไปช่วยบาห์เรนในการปราบปรามผู้ประท้วงในปี2011ที่อาจจะลามไปทั่วโลกอาหรับ ทำให้ซาอุดิฯจำต้องทบทวนความสัมพันธ์ทุกอย่างกับสหรัฐฯ รวมทั้งเปโตรดอลล่าร์

ซาอุดิฯนอกจากจะขายน้ำมันเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐฯแล้ว ยังมีเงินทุกสำรองระหว่างประเทศที่ส่วนมากเก็บอยู่ในรูปดอลล่าร์หรือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเป็นจำนวนสูงถึง$690,000ล้าน แหล่งข่าวซาอุดิฯพูดเมื่อเดือนตุลาคมปร2013ว่า ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯกำลังได้การทบทวน และอะไรก็เกิดขึ้นได้

ซาอุดิ ได้มีการสร้างสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับจีนขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะว่าจีนได้กลายเป็นลูกค้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของซาอุดิฯ แทนสหรัฐฯอเมริกาไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของซาอุดิฯ เจ้าชายSalman Bin Abdulaziz Al Saudได้ไปเยือนปักกิ่งอย่างเป็นทางการ เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำจีน ทั้ง 2 ประเทศให้คำมั่นว่าจะเสริมสร้างสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ด้วยกัน แน่นอนต้องมีการพูดคุยกันถึงความเป็นไปได้ของเปโตรหยวน

ขณะนี้ จีนพยายามทุกอย่างเพื่อที่ล้มสหรัฐฯทางการเงิน ด้วยการสร้างเปโตรหยวนขึ้นมาแทนเปโตรดอลล่าร์ คือต้องการซื้อน้ำมันเป็นหยวน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯมีเงินดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะว่าสหรัฐฯตอนนั้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ส่งออกมากที่สุดในโลกและเป็นประเทศเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่มาในวันนี้ สหรัฐฯกลายเป็นประเทศที่ลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก มีการขาดดุลการค้ามากที่สุดในโลก

ในทางตรงข้ามจีนตอนนี้ได้ก้าวเข้ามากลายเป็นประเทศที่มีปริมาณการค้าขายมากที่สุดในโลก เป็นประเทศเจ้าหนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดในโลก และมีการนำเข้าน้ำมันแซงหน้าสหรัฐฯไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้สหรัฐฯจะมีปัญหาในการรักษาดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก เพราะว่าปัจจัยพื้นฐานของสหรัฐฯได้เปลี่ยนไปอย่างมาก ในขณะที่จีนเริ่มมีความแกร่งมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าเงินหยวนเริ่มจะมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในเวทีการเงินระหว่างประเทศ ลอนดอนได้เซ็นสัญยาความร่วมมือกับจีน เพื่อว่าจะได้เป็นศูนย์กลางการทำธุรกรรมการเงินหยวนของโลก ออสเตรเลียและญี่ปุ่นมีการเซ็นสัญญาหยวนสว๊อปกับจีน คือจะค้าขายระหว่างกันโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีอีก20กว่าประเทศที่มีข้อตกลงสว๊อปทางการเงินกับจีน และจำนวนประเทศที่จำทำหยวนสว๊อปกับจีนมีแต่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้ค้าและผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกแล้ว

ก้าวต่อไปของจีน คือการสร้างเปโตรหยวน ซึ่งจะสามารถทำให้จีนใช้หยวนซื้อน้ำมันได้ แทนที่จะต้องเอาหยวนไปแลกดอลล่าร์ก่อนที่จะไปซื้อน้ำมัน

มีความคืบหน้าพอสมควรสำหรับเปโตรหยวน คือทั้งรัสเซียและอิหร่านตกลงที่จะขายน้ำมันให้จีนผ่านเงินหยวน นั้นหมายความว่า นำมันจำนวน1ล้านบาเรลล์ต่อวันซื้อขายเป็นหยวนไปเรียบร้อยแล้ว


เวเนซูเอลล่าเตรียมการที่จะขายน้ำมันเป็นหยวนเหมือนกัน ไม่เอาดอลล่าร์เพราะว่าเวเนซูเอลล่าไม่ถูกกับทางสหรัฐฯอย่างมาก เพราะว่าสหรัฐฯต้องการล้มรัฐบาลเวเนซูเอลล่า

แองโกล่าต้องการขายน้ำมันเป็นหยวนเหมือนกัน เพราะว่าจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่สุด ซื้อน้ำมันจากแองโกล่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมด

ซูดานก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ทางการเมืองกับจีนในระดับที่ดี ต้องการขายน้ำมันเป็นหยวน

ถ้าหากรัสเซีย อิหร่าน แองโกล่า ซูดานและเวเนซุเอลล่าขายน้ำมันให้จีนเป็นหยวน แสดงว่าปริมาณน้ำมัน5ล้านบาเรลล์ต่อวันจะเป็นการซื้อขายเป็นหยวน แทนที่จะเป็นดอลล่าร์

เมื่อเป็นเช่นนั้น อาจจะต้องถึงเวลาบอกลาเปโตรดอลล่าร์ได้แล้ว

จุดเริ่มต้นเปโตรดอลล่าร์

ก่อนสงครามโลกครั่งที่2จะจบลง ทางพันธมิตรตะวันตกรู้อยู่แล้วว่าจะชนะสงคราม มีการเตรียมตัวที่จะให้เงินดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก แทนเงินปอนด์ของอังกฤษที่ย่อยยับจากสงคราม ระบบการเงินระหว่างประเทศBretton Woodsจึงถือกำเนิดขึ้นที่ Bretton Woods, New Hamshireของสหรัฐฯ เพราะว่ามีการประชุมที่นั้น เป็นการผลักดันโดยอังกฤษที่รู้ตัวดีว่าต่อไปต้องยอมทำตัวเป็นเบอร์2 รองจากสหรัฐฯ และให้สหรัฐฯเป็นมหาอำนาจของโลก

สหรัฐฯมีทองคำสำรองอยู่20,000กว่าตัน ที่พวกcentral plannersจัดฉากเอามาต๊ะไว้ จำนวนนี้มากเพียงพอที่จะสร้างระบบการเงินโลกใหม่ ทดแทนระบบเก่าที่พังจากสงคราม โดยที่เงินดอลล่าร์จะเป็นเงินสกุลหลักของโลกหนุนด้วยทองคำสำรอง

Bretton Woods เป็นระบบการเงินระหว่างประเทศแบบคงที่ ที่อิงมาตรฐานทองคำ โดยที่เงินสกุลต่างๆของโลกเอามาผูกกับค่าเงินดอลล่าร์ในอัตราที่คงที่ ไม่ใช่แกว่งไปแกว่งอย่างไร้ทิศทางมาเหมือนทุกวันนี้ และดอลล่าร์ก็เอาไปผูกกับทองอีกต่อหนึ่งที่อัตรา$35ต่อออนซ์ ประเทศต่างๆ รวมทั้งสยามประเทศเริ่มมีการตุนดอลล่าร์เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการค้าขายระหว่างประเทศ และดอลล่าร์นี้สามารถแลกคืนเป็นทองจากรัฐบาลสหรัฐฯได้ในอัตราที่คงที่ หรือ$35ต่อออนซ์

แต่ช่วงปลายทศวรรษ1960s สหรัฐฯมีปัญหาการเงิน เพราะมีภาระสงครามเวียดนาม การใช้จ่ายสำหรับสวัสดิการสังคม และการขาดดุลที่สูง ทำให้US Federal Reserveมีการพิมพ์เงินออกมากเกินทองคำสำรองที่มีอยู่ ปริมาณเงินดอลล่าร์ที่เพิ่มขึ้นในระบบนี้ ทำให้ธนาคารกลางในหลายๆประเทศ รวมทั้งผู้ถือดอลล่าร์อื่นๆไม่มั่นใจในดอลล่าร์ จึงเอาดอลล่าร์ไปแลกทองแทน ทองคำสำรองสหรัฐฯร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แต่พวกcentral plannersวงใน น่าจะฉกทองไปก่อนเพื่อน

ผลที่ตามมาก็คือทองคำสำรองของสหรัฐฯร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วจาก20,000กว่าตันเป็น 8,100ตันในปี1971 ถ้าไม่ทำอะไร ผู้ถือดอลล่าร์จะแลกเป็นทองจนสหรัฐฯไม่เหลือทองแม้แต่ออนซ์เดียวในคลัง ในวันที่ 15 สิงหาคม 1971ประธานาธิบดีนิกสันจึงเลิกเอาดอลล่าร์มาผูกกับทองเพื่อสะกัดไม่ให้ทองไหลออก ปิดหน้าต่างทองของเฟด ฝรั่งเศสเอาดอลล่าร์มาแลกทองกับสหรัฐฯต้องหน้าแหก เมื่อเจอคำพูดว่าเสียใจแลกคืนไม่ได้ ให้ถือดอลล่าร์ไปอย่างนั้นแหละ ถ้าไม่อยากจะถือดอลล่าร์ ก็ใช้มันออกไป

ผลก็คือสหรัฐฯยกเลิกระบบการเงินโลกแบบอัตราคงที่ และเบี้ยวพันธคำมั่นว่าดอลล่าร์สามารถแลกทองคืนได้

การเบี้ยวมาตรฐานทองคำของสหรัฐฯกลายเป็นว่าระบบการเงินระหว่างประเทศล่มสลายเป็นครั้งที่3ในศตวรรษที่20 ครั้งแรกคือเมื่อสงครามโลกเกิดขึ้นในปี1914 และครั้งที่สองคือเมื่อสงครามโลกครั้งที่2เกิดในปี1939

จะเห็นได้ว่าระบบการเงินโลกอายุสั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเริ่มของBretton Woodsในปี1944-1945ถึง1971 มีอายุแค่26ปี

เมื่อดอลล่าร์ไม่ผูกกับทองคำ ดอลล่าร์ก็กลายเป็นเงินกระดาษล้วนๆ หรือแบงค์กงเต๊ก อัตราแลกเปลี่ยนของดอลล่าร์จึงลอยตัว แกว่งไปมาไม่มีเหมือนเรือที่ไม่มีสมอ ค่าเงินประเทศอื่นๆที่ผูกกับดอลล่าร์จึงแกว่งไปด้วย แล้วประเทศต่างๆจะยังคงอยากจะถือดอลล่าร์อีกต่อไปทำไม ในเมื่อดอลล่าร์ไม่ได้มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง Uncle Samพิมพ์เงินออกมาดื้อๆกลางอากาศให้ทั่วโลกใช้

ความต้องการในการถือดอลล่าร์ต้องลดลงไปโดยปริยายเพราะความเชื่อมั่นไม่มี แลกเป็นทองก็ไม่ได้ สหรัฐฯจึงต้องหาทางออกด้วยการสร้างระบบการเงินใหม่ เพื่อรื้อฟื้นความเชื่อมั่น หรือเพื่อรักษาความเป็นเงินสกุลหลักของโลกของดอลล่าร์

แล้วอะไรจะดีไปกว่าเอาน้ำมันของตะวันออกกลางมาหนุนดอลล่าร์?

หลังจากการล่มสลายของระบบBretton Woods กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรู้สึกไม่สบายใจมากที่ดอลล่าร์ลอยตัวกลางอากาศไม่มีหลักทรัพย์อะไรหนุนหลัง ทำให้มีการรวมตัวเพื่อกำหนดราคาน้ำมันให้สูงขึ้นในรูปดอลล่าร์ สหรัฐฯต้องบริโภคน้ำมันในราคาที่แพงขึ้น และถ้าดอลล่าร์จะยังคงรักษาความเป็นเงินสกุลหลักของโลกต่อไป จะต้องมีการสร้างระบบการเงินโลกใหม่ขึ้นมาแทน และต้องโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆหันกลับมาถือดอลล่าร์เหมือนเดิม

ประธานาธิบดีนิกสัน และHenry Kissinger เลขาธิการความมั่นคงของสหรัฐฯจึงดำเนินการที่จะเอาน้ำมันสำรองทั้งหมดในตะวันออกกลางมาหนุนดอลล่าร์ ระบบการเงินใหม่ต้องสร้างขึ้นมาโดยเร็วเพื่ออุดช่องว่างที่เกิดขึ้นจากการล่มสลายของระบบBretton Woods

ในปี1972 Kissingerบินไปซาอุดิ อาราเบีย ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกในขณะนั้นเพื่อเจรจาให้ราชวงศ์ซาอุตกลงขายน้ำมันเป็นดอลล่าร์ต่อไป โดยมีข้อแม้ว่าสหรัฐฯจะให้ความช่วยเหลือทางการเมือง ทางทหารและความมั่นคงให้กับราชวงศ์ซาอุฯและให้ซาอุดิฯช่วยใช้อิทธิพลกวาดต้อนกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆให้เข้าคอกด้วยคือต้องขายน้ำมันเป็นดอลล่าร์อย่างเดียว โดยที่มี แสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯทอดเงาทมึนครอบกะลาหัวอยู่

และเพื่อให้ระบบการเงินและระบบแบงค์โลกเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่ซาอุดิฯและประเทศผู้ผลิตน้ำมันขายน้ำมันได้ดอลล่าร์มาแล้ว ให้เอาดอลล่าร์นั้นกลับไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯมาถือและได้ดอกเบี้ยด้วย โดยที่พันธบัตรสหรัฐฯสามารถเอาไปขายหรือตึ้งต่อเพื่อแลกเงินสดกลับคืนมาได้ทุกเมื่อ

ระบบเปโตรดอลล่าร์จึงถือกำเนิดขึ้นมาแทนระบบBretton Woods ด้วยนโยบายที่แยบยลทางทหารของสหรัฐฯ ทุกประเทศมีความต้องการใช้น้ำมัน จึงสำเป็นต้องสำรองดอลล่าร์ในการซื้อน้ำมัน ทำให้มีความต้องการถือ หรือเพิ่มการถือดอลล่าร์ต่อไป

ตกลงสหรัฐฯเล่นกลแหกตาชาวโลกได้สำเร็จ 3เด้ง

เด้งที่1 สหรัฐฯพิมพ์เงินออกมาเปล่าๆได้ โดยที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์อะไรหนุน

เด้งที่ 2 สหรัฐฯสามารถเอาบ่อน้ำมันทั้งตะวันออกกลางที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของมาหนุนดอลล่าร์ได้

เด้งที่3 สหรัฐฯสามารถก่อหนี้ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลไปได้เรื่อยๆ เพราะประเทศต่างๆจำต้องสำรองดอลล่าร์เพื่อซื้อน้ำมัน เวลามีดอลล่าร์เหลือก็เอาไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯมาเก็บเพราะว่าได้ดอกเบี้ย ดีกว่าเก็บเป็นดอลล่าร์ในรูปเงินสด

ในที่สุดระบบการเงินโลกเดินหน้าต่อไปได้ภายใต้กลไกที่พิลึกพิลั่น โดยที่สหรัฐฯสามารถทำเงินดอลล่าร์กงเต็กให้แลกกลับไปเป็นน้ำมันของคนอื่นได้ และสหรัฐฯสามารถก่อหนี้ผ่านพันธบัตรรัฐบาลได้ไม่มีที่สิ้นสุด พันธบัตรสหรัฐฯคือหนี้ที่ตั้งอยู่บนเงินดอลล่าร์กงเต็ก แต่เวลารัฐบาล ระบบแบงค์ สถาบันการเงินต่างๆถือดอลล่าร์กงเต็กและหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ กลายเป็นถือทรัพย์สินที่มีความมั่นคงมีเร็ทติ้งระดับ AAA

นับว่าเป็นการเล่นกลวิทยายุทธการเงินที่ล้ำเลิศที่สุดในประวัติศาสตร์การเงินโลก

ช่วงที่สหรัฐฯเอาดอลล่าร์ออกจากมาตรฐานทองคำภายใต้ระบบBretton Woods เศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหาหนัก ค่าเงินดอลล่าร์ป่วนมากระหว่าง1971และ 1973 เพราะว่าเงินเฟ้อพุ่งจากการใช้จ่ายที่เกินตัวและภาระสงครามเวียดนาม

Jim Rickards ผู้แต่งThe Death of Money เขียนในบทนำของหสังสือเล่มล่าสุดของเขาว่า สหรัฐฯเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดในปี1978เมื่อเงินดอลล่าร์เกือบจะหมดสภาพ ในปีนั้นความมั่นใจในดอลล่าร์แทบจะไม่เหลือ รัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถกู้เงินเป็นดอลล่าร์ ต้องออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปเงินสกุลสวิสฟรังค์ เพราะว่าถ้าออกเป็นสกุลดอลล่าร์จะไม่มีคนซื้อ

ระหว่างปี1977 ถึง1981 ค่าเงินดอลล่าร์ตกไปมากกว่า50% ในปี1979 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟต้องเข้ามากอบกู้สถานการณ์ด้วยการปั๊มป์เงินspecial drawing rights (SDR) ซึ่งเป็นเงินในรูปบัญชีที่อิงเงินสกุลหลักๆของโลกที่เอามารวมในตระกร้าเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องของระบบการเงินโลก ปรากฎว่าไอเอ็มเอฟต้องอัดสภาพคล่องการเงินเข้าไปถึง12,100 ล้านSDRs เพื่อให้ระบบการเงินโลกมีสภาพคล่อง ในขณะที่ความเชื่อมั่นในดอลล่าร์ลดลง ดอลล่าร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก และเป็นเสาหลักของระบบการเงินโลก เมื่อความมั่นใจในดอลล่าร์หายไป สภาพคล่องดอลล่าร์ก็หายไปด้วย

ราคาทองเพิ่ม500%ระหว่างปี1977ถึง 1980 หรือระหว่างที่ดอลล่าร์มีวิกฤติ หลังจากที่นิกสันยกเลิกการผูกดอลล่าร์กับมาตรฐานทองคำในปี1971และได้สร้างเปโตรดอลล่าร์ 1972มาแทนระบบBretton Woods เงินดอลล่าร์ประสบวิกฤติช่วงตอนปลายทศวรรษนั้น

อัศวินม้าขาวของสหรัฐฯในช่วงนั้นคือ Paul Volcker ประธานUS Federal Reserve เขาขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง19%ในปี 1981เพื่อที่จะรบกับเงินเฟ้อ และเพื่อที่จะฟื้นความมั่นใจในค่าเงินดอลล่าร์ ประธานาธิบดีRonald Reaganเข้ามาเป็นผู้นำต่อจากJimmy Carter และเขาไม่รีรอที่จะลดภาษีแลกขจัดกฎระเบียบต่างๆที่เป็นอุปสรรคของการลงทุน หรือการขยายตัวของธุรกิจ ปรากฎว่าความเชื่อมั่นเริ่มกลับคืนมาในเศรษฐกิจสหรัฐฯและค่าเงินดอลล่าร์

ในปี 1985ค่าเงินดอลล่าร์เริ่มตีกลับด้วยการแข็งค่าขึ้น50%จากความตกต่ำสุดใน ปี1978 ราคาทองตก60%จากระดับสูงสุดในปี 1980 และเงินเฟ้อลดจาก13.5%ในปี 1980เป็น 1.9% ในปี1986 ถือกันว่าPaul Volcker เป็นอัศวินขี่ม้าขาวใช้ดาบฆ่ามังกรยักษ์ที่พ่นไฟเป็นเงินเฟ้อได้

ในปี1991 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมWorld Bank/IMF ผมมีโอกาสนั่งกินข้าวกับMichel Camdessus กรรมการผู้จัดการของไอเอ็มเอฟ ผมได้เขียนสรุปเกี่ยวกับประวัติและบทบาทของCamdessusลงหนังสือพิมพ์ The Nationในช่วงการประชุมที่ศูนย์สิริกิต ซึ่งกินเวลาหลายวัน

ก่อนเทียงวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนข่าวในห้องนักข่าว ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของไอเอ็มเอฟมาตามหาคนผม บอกว่าใช่ผมเป็นคนที่เขียนprofileของCamdessus หรือไม่พร้อมชูบทความผมในThe Nation ผมตอบว่า "Yes, it's me." ในใจคิดว่า จะมาว่าอะไรเรา เขียนอะไรไม่ถูกใจหรือเปล่า

ปรากฎว่าเขาบอกว่าบทความผมดีมากและCamdessusต้องการเลี้ยงข้าวเที่ยงผมพร้อมกับนักข่าวที่คัดเลือกแล้วจากประเทศต่างๆ 5-6 คน ผมได้ได้มีโอกาสกินข้าวร่วมโต๊ะกับCamdessus คุยกันหลายเรื่องจำไม่ได้แล้ว แต่มีตอนหนึ่งเขาแสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องเงินเฟ้อ แนะให้สหรัฐฯ (หรืออาจจะเป็นประเทศอื่นไม่แน่ใจ)ขึ้นดอกเบี้ย2% เพราะว่าเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางหรือนักเศรษฐศาสตร์ต้องระวังที่สุด เพราะเขาบอกว่า

"Inflation is like a seven-headed dragon. Even if you kill one, you're not doing anything." แปลว่า "เงินเฟ้อเหมือนมังกร7หัว แม้ว่าจะฆ่ามันตายไปแล้วหัวหนึ่ง แต่เราก็ยังไม่ได้ทำอะไรมันมาก"

เดี๋ยวเราจะได้เห็นสหรัฐฯสร้างมังกร100หัวอย่างจงใจ และไม่คิดที่จะฆ่ามันเลย นโยบายการเงินสร้างเงินเฟ้อและฟองสบู่ จนเมื่อฟองสบู่แตกเกิดเงินฝืด ธนาคารกลางหรือเฟดกลับมาลดดอกเบี้ยเพื่ออัดฉีดเงินเพื่อสร้างเงินเฟ้อหรือฟองสบู่อีก จนทำให้ดอลล่าร์กำลังจะเจอวิกฤติรอบใหม่ที่จะมีความรุนแรงกว่าปี1978หลายสิบ หรือเป็นร้อยเท่า

Marc Faber นักลงทุนระดับโลกบอกว่าสหรัฐฯชอบที่จะสร้างฟองสบู่การเงิน แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ชอบที่จะจัดการกับปัญหา ตลาดหุ้นสหรัฐฯอยู่ในภาวะกระทิงมา5ปีแล้วหลังจากที่ลงมาสุดต่ำในเดือนมิถุนายน2009 แต่การเฟื่องฟูมาให...ม่ไม่ได้ทำให้ครัวเรือนหรือเศรษฐกิจของสหรัฐฯดีขึ้น แต่ทำให้พวกที่รวยอยู่แล้ว ยิ่งจะรวยล้นฟ้าขึ้นไปอีก เพราะราคาทรัพย์สินที่ถืออยู่สูงขึ้น ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวย คนจนมากขึ้น


Marc Faberบอกว่า พวกนายธนาคารกลางมีการพิมพ์เงินมากเกินไป และยิ่งจะเพิ่มการพิมพ์เงินก็ยิ่งจะสร้างปัญหามากมายตามมา เพราะฉะนั้นระยะเวลาที่ฟองสบู่ตลาดที่จะแตกคือภายใน3ปี เมื่อตลาดพัง อำนาจของพวกนายธนาคารกลางจะถูกริดรอนมากขึ้น เพราะว่าคนจะเริ่มตระหนักว่าใครเป็นคนสร้างฟองสบู่ตลาดNASDAQ ในปี1999? คำตอบคือFederal Reserve

ใครเป็นคนสร้างฟองสบู่อสังหาฯระหว่างปี2001-2007? คำตอบคือFederal Reserve
และใครเป็นคนสร้างฟองสบู่การเงินที่ใหญ่โตมโหฬารในสตอนนี้? คำตอบคือFederal Reserve
จะเห็นได้ว่าตัวร้ายที่สร้างฟองสบู่ไม่การเงินสหรัฐฯคือAlan Greenspan ประธานเฟดที่สร้างฟองสบู่ดอตคอมผ่านนโยขายดอกเบี้ย และฟองสบู่อสังหาฯในปี2001-2007ด้วยการกดดอกเบี้ยตำเพิ่มสภาพคล่องการเงิน

Ben Bernankeเข้ามารับช่วงเป็นประธานเฟดช่วงวิกฤติ2008 ก็อัดสภาพคล่อง ทำQEเพื่อสร้างฟองสบู่รอบใหม่ แต่ละรอบของฟองสบู่ที่แตกไม่ปรากฎว่าสหรัฐฯมีการปรับโครงสร้างอะไรอย่างจริงๆจังๆ มีแต่การเพิ่มปริมาณเงิน เพื่อกลบปัญหา ตอนนี้Janet Yellen ประธานเฟดหญิงขึ้นขี่หลังเสือ แต่ต้องการลงหลังเสือด้วยการลดฟองสบู่ หรือลดขนาดQE แต่ไม่คิดว่าจะทำได้เพราะหนี้สหรัฐฯสูงเกินไป ถ้าดอกเบี้ยขึ้นหรือกลับไปสูสภาพปกติ ตลาดจะพัง หนี้และตลาดบอนด์จะระเบิดออกมา
ทำให้เปโตรดอลล่าร์มีความเสี่ยงว่าจะยืนอยู่

แล้วดอลล่าร์ หรือเปโตรดอลล่าร์จะพังเมื่อใด?


 

ทั้งJim Rickards และ Marc Faber บอกว่าดอลล่าร์จะพังภายใน3ปี หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ไม่มีใครบอกเวลาที่แน่นอนได้

Jim Rickardsบอกว่ามันเหมือนการก่อตัวของภูเขาน้ำแข็ง ที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นมา จับตัวแข็งบนภูเขาอย่างช้าๆ ไม่มีใครรู้ว่ามันจะกลิ้งลงมาเมื่อใด จนกระทั่งถึงจุดหนึ่ง แค่ละอองหิมะมาแตะภูเขาน้ำแข็งลูกนี้เท่านั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้มันกลิ้งลงมาจากที่สูงแล้วทำลายบ้านเรือน ฆ่าคนที่อยู่ข้างล่างตายได้

Jim Rickards บอกว่าประเด็นคือเวลาที่ภูเขาน้ำแข็งมันกลิ้งลงมาทำลายผู้คนและบ้านเรือนจะไม่มีใครตั้งหลักทัน เพราะฉะนั้นในเรื่องระบบการเงิน หรือวิกฤติดอลล่าร์เหมือนกัน เวลามันพังจะไม่มีใครตั้งตัวทัน เพราะไม่มีการเตรียมพร้อมกัน
เฟดทำทุกอย่างแล้วเพื่อเซฟระบบ ไม่ว่าจะเป็น QE1, QE2, QE3, Operation Twist (ขายบอนด์สั้นซื้อบอนด์ยาว), forward guidance (ให้สัญญานกับตลาดว่าเฟดจะทำอะไรข้างหน้า), สงครามการเงิน, ตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถจะทำให้สภาวะเงินฝืด หรือราคาทรัพย์สินที่ตกฟื้นขึ้นมาได้ เหมือนกับที่ญี่ปุ่นเผชิญอยู่

Marc Faberบอกว่าเฟดสร้างฟองสบู่การเงินดอตคอม1991 ฟองสบู่อสังหาฯ2007 และตอนนี้สร้างฟองสบู่ที่ใหญ่กว่าเดิม (2009-ปัจจุบัน) มีแต่จะต้องแตกภายใน3ปีอย่างช้า Jim Rickards ยกอีกตัวอย่างหนึ่งให้เห็นภาพคือ เวลาวิกฤติเกิดขึ้นตอนแรกเราจะไม่ค่อยรู้ตัว เหมือนกับเวลาเรานั่งอยู่ในโรงหนัง แล้วมีคน2-3คนลุกออกไปที่ประตูทางออก เราก็นั่งดูหนังต่อไม่สนใจ พอคนเริ่มลุกออกมากเพิ่มอีก5-6คนเราเริ่มจะเอะใจ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอคน20-30คนหนีไปที่ประตูทางออก เราจะลุกจากเก้าอี้ทันที หนีออกจากโรงหนังตามโดยไม่ต้องถามอะไรแล้ว นี้คืออาการpanic ที่จะเกิดขึ้นกับวิกฤติดอลล่าร์

ถ้าดอลล่าร์จะวิกฤติภายใน3ปีหรือน้อยกว่า มันจะเป็นช่วงสมัยที่เหลือของประธานาธิบดีโอบามาพอดี แล้วโอบามาจะแก้เกมอย่างไร เพราะว่าดอลล่าร์กับลังจะพังคามือ เราจะได้เห็นสงครามหรือไม่?

ใครก็ตามที่บังอาจท้าทายเปโตรดอลล่าร์ จะโดนสหรัฐฯส่งทหารเข้าไปจัดการกวาดล้าง ไม่ว่าจะเป็นซัดดามของอิรัค หรือกัดดาฟี่ของลิเบียโดนล้มจนประเทศพังยับเยินเวลานี้ เสร็จแล้วก็ปล้นบ่อน้ำมันต่อ แต่ทั้งรัสเซียและจีนกำลั...งท้าทายเปโตรดอลล่าร์ คือต้องการทำการค้าขายน้ำมัน หรือสินค้าและบริการอื่นๆโดยไม่ต้องผ่านเงินดอลล่าร์ ปัญหาคือสหรัฐฯไม่สามารถจะส่งทหารเข้าไปแทรกแซง2ประเทศนี้ได้ เพราะว่าเป็นมหาอำนาจเหมือนกัน มีระเบิดนิวเคลียร์พอๆกัน

Stephen Leeb นักบริหารเงินที่มีชื่อบอกว่า ถึงเวลานี้ซาอุดิ อาราเบียน่าจะเห็นภาพชัดแล้วว่าซากศพที่กองทับกันอยู่ในอิรัคและลิเบียไม่น่าจะบ่งบอกถึงอนาคตที่ดีสำหรับประเทศใดที่จะผูกตัวเองกับเปโตรดอลล่าร์ได้ยาวนานอีกต่อไป เขาบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่ซาอุดิฯจะขายน้ำมันตามราคาของตระกร้าเงินที่ประกอบด้วยประเทศที่มีความมั่นคงกว่าตอ่ไปคือจีน รัสเซีย หรือเยอรมัน และทองคำ เพราะฉะนั้นทองจะเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดราคาน้ำมันในอนาคต

Stephen Leeb บอกว่าการล่มสลายของประเทศที่พึ่งพาเปโตรดอลล่าร์ น่าจำทำให้ซาอุดิฯฉุกคิดได้ว่าต้องเตรียมพร้อมอย่างไร สำหรับระบบใหม่ที่ต้องสร้างขึ้นมารองรับ และเขาเชื่อว่าซาอุดิฯน่าจะมีการพูดคุยกับรัสเซียและจีนว่าจะสร้างระบบค้าน้ำมันออกจากเปโตรดอลล่าร์อย่างไรให้กระทบกระเทือนน้อยที่สุด เพราะว่าซาอุดิฯไม่ต้องการมีชะตากรรมที่ลงเอยเหมือนอย่างอิรัค และลิเบีย นี้เป็นช่วงที่ล่อแหลมมาก

ในเมื่อซาอุดิฯ ซึ่งเป็นเสาหลักของเปโตรดอลล่าร์ตั้งแต่ต้น กำลังคิดตีจากเปโตรดอลล่าร์ แล้วอนาคตของดอลล่าร์จะเป็นอย่างไร ในเมื่อหลายๆประเทศเริ่มคิดมาตราการล้มดอลล่าร์และลดอำนาจสหรัฐฯในเวทีโลก ด้วยการสร้างระบบการเงินการค้าใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพาดอลล่าร์กระดาษอีก

Paul Craig Robertsสรุปชัดเจนในบทความล่าสุดว่า "ไม่ว่าสหรัฐฯหรือโลกจะต้องถึงจุดจบกันอย่างใดอย่างหนึ่ง" หมายความว่าเงินดอลล่าร์จะต้องโดนทิ้ง หรือมีค่าพังทะลายลงมา เพราะว่าเศรษฐกิจที่พังลงของสหรัฐฯตั้งแต่ปี2008...ไม่ได้ฟื้นจริงๆเลยตามที่John Williamsได้สรุปเอาไว้ในรายงานเดือนเมษายนที่ผ่านมา ถ้าเป็นเช่นนั้นอำนาจของวอชิงตันในการสร้างภัยให้กับชาวโลกจะสิ้นสุดลง

หรือไม่ก็สหรัฐฯจะยุให้ตัวแทนออกหน้ารบกับรัสเซียและจีนแทน ถ้าเป็นเช่นนั้นผลจากความเสียหายของสงครามโลกจะรุนแรงมากกว่าการพังทะลายของดอลล่าร์มากนัก เหตุการณ์หรือการสร้างสถานการณ์911เป็นข้ออ้างสำหรับสหรัฐฯที่จะบุกถล่มIraq, Afghanistan, Libya, Somalia, Syria, Iran, และ Hezbollah และเพื่อที่จะทำความฝันของพวกนีโอคอน (neo-conservatives ) ในการครองโลกให้เป็นจริง

Paul Craig Roberts บอกว่านาโต้อาจจะแตกภายในปีนี้ หรือแม้แต่สหภาพยุโรปก็ตาม การเข้าไปก่อการรัฐประหารในยูเครนของสหรัฐฯ และการแซงชั่นรัสเซียทำให้ประเทศบริวารในนาโต้มีความเสี่ยงของสงคราม วอชิงตันอ่านเกมผิดในการเข้าไปยุ่งในยูเครน เพราะว่าไครเมียรีบออกไปผนวกเข้าไปดินแดนเดียวกับรัสเซีย ประเทศที่เคยอยู่ใต้รัสเซียมาก่อนจะทะยอยกลับเข้าสู่อ้อมกอดของรัสเซีย

เริ่มมีการประท้วงในทางตะวันออกของยูเครนเพื่อที่จะให้ยูเครนกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รัฐบาลกลางที่Kiev ซึ่งเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐฯอาจจะต้องใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วง พวกสมาชิกนีโอนาซีของ Fatherland Partyต้องการยิงผู้ประท้วงที่ฝักใฝ่ในรัสเซีย ถ้าเกิดเหตุรุนแรงในยูเครน กองทหารของรัสเซียจะเข้าไปช่วยผู้ประท้วง และจะทำให้ดินแดนในทางตะวันออกของยูเครกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียอีกครั้ง

แล้วสหรัฐฯจะทำอะไรได้ ยกเว้นการผลักดันให้ยุโรปเข้าไปเผชิญหน้ากับรัสเซีย2ด้านคือ ประการแรกการเผชิญหน้าทางสงคราม ซึ่งยุโรปไม่ต้องการที่จะสู้รบกับรัสเซีย อันเกิดจากการที่วอชิงตันทำรัฐประหารในKiev และอีกประการหนึ่งยุโรปเข้าใจดีว่าการแซงชั่นรัสเซีย จะมีผลเสียกับยุโรปมากกว่า ในยุโรปเองมีปัญหาเศรษฐกิจที่หนักมาก มีความเหลื่อมล้ำ การว่างงาน และมาตรการคุมเข้มทางการเงิน ทำให้เกิดความขุ่นเคืองไม่พอใจระหว่างประเทศที่จนและประเทศที่รวยในสหภาพยุโรป

ยุโรปไม่ต้องการทำสงครามกับรัสเซีย ในขณะที่วอชิงตันต้องการผลักดันยุโรปให้ทำสงครามและเสียสละแทนตัวเอง ในขณะที่สหรัฐฯหยิบยื่นสงครามและการเสียสละให้ยุโรป รัสเซียและจีนมอบการค้าและความเป็นมิตรให้ยุโรป
วอชิงตันจำต้องซื้อนักการเมืองยุโรปให้อยู่ในแถวทำตามนโยบายสหรัฐฯ แต่ความเสี่ยงของยุโรปที่จะเดินตามก้นสหรัฐฯจะมีมากขึ้น อันนำไปสู่บทสรุปได้ว่า ไม่ว่าสหรัฐฯหรือโลกจะต้องถึงจุดจบกันอย่างใดอย่างหนึ่ง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น